You are currently viewing เยี่ยมชม บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ปลูกกาแฟอราบิก้าคุณภาพดี

เยี่ยมชม บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ปลูกกาแฟอราบิก้าคุณภาพดี

วันนี้เกษตรกรพบปัญหาผลผลิตลดน้อยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้นำชุมชนอย่างพ่อหลวงระกา นามประเสริฐยิ่ง (ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟอราบิก้า อ.อมก๋อย) เรียกประชุมเกษตรกร พร้อมด้วยทีมสนับสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) บ้านขุนตื่นน้อย และฮิลล์คอฟฟ์ เข้าร่วมหารือถึงสาเหตุที่คาดว่าเป็นปัจจัยให้ผลผลิตกาแฟน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น
– การปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น การปลุกกาแฟกลางแจ้งแบบไม่มีร่มเงาจากไม้ใหญ่
สภาพดินที่เสื่อมโทรมจากหลายสาเหตุ และการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
– โรคทางดินกับระบบรากพืช เช่น โรครากเน่าโคนเน่า(Root and Stem-rot Diseases) , โรคไฟทอปธอร่า (Phytophthora) เป็นเชื้อราที่กำจัดได้ยาก
 
สาเหตุเหล่านี้ ทำให้ผลผลิตกาแฟบ้านขุนตื่นน้อย ลดลงกว่า 40% จากปี 2564 ตลอดจนผลผลิตโดยรวมของอำเภออมก๋อย กว่าสิบหมู่บ้านที่ปลูกกาแฟอราบิก้าใน ตำบลนาเกียน , ตำบลยางเปียง และตำบลสบโขง ในบางครัวเรือนได้กาแฟกะลาทั้งฤดูกาลเพียง 1 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรขาดกำลังใจในการพัฒนาต่อ

ฮิลล์คอฟฟ์ ได้เก็บตัวอย่างดินจากแปลงกาแฟของเกษตรกร มาวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน และจำแนกชุดดินเพื่อนำข้อมูลมาใช้ปรับปรุงสภาพดินให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ต่อไป เพราะดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการทางธรรมชาติ ทําให้สมบัติของดินมีความหลากหลาย และแตกต่างกันตามปัจจัยการกําเนิดดิน ซึ่งได้นํามาใช้ในการจําแนกดินออกเป็นชุดดินต่างๆ เมื่อมีการจัดการดินเพื่อการเพาะปลูกในลักษณะที่แตกต่างกันก็อาจทําให้สมบัติของดินบางประการมีการแปรปรวนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติทางเคมีของดิน , ปริมาณอินทรียวัตถุและปริมาณธาตุอาหารพืชลดลง , สมบัติทางกายภาพเกิดการแน่นทึบของดิน ทําให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช

 

มีงานวิจัยระบุว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate change) ทำให้ดินไม่เหมาะกับการปลูกกาแฟอีกต่อไป และโลกจะค่อยๆ สูญเสียแหล่งผลิตกาแฟลงไปเรื่อยๆ หลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มคุกคามวงการกาแฟ หลายคนก็เริ่มมองหาทางรอดในอนาคต เช่น การหาทางปรับปรุงสายพันธุ์ของกาแฟให้ทนทานต่อความแห้งแล้ง และความร้อนที่เพิ่มขึ้น แต่มันจะดีกว่ามั๊ยคะหากเราเร่งฟื้นฟูผืนป่าและทรัพยากรป่าและต้นน้ำเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้

ฉะนั้น การผนึกแต่ละส่วนงาน ที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาและพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้าอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกที่ต้องมีกำลังใจ และ ความเข้าใจในธรรมชาติที่ต้นกาแฟต้องการ และ สวพส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการและทรัพยากรสำหรับทำการเกษตรบนพื้นที่สูงที่เหมาะสมและไม่เป็นส่วนหนึ่งของการตัดไมทำลายป่า ฮิลล์คอฟฟ์ เราพร้อมผลักดันกาแฟคุณภาพให้สามารถแข่งขันในตลาดได้และคำมั่นสัญญาจาก คุณ นฤมล ทักษอุดม MD Hillkoff ในที่ประชุมวันนี้ คือ

“เราจะไม่ทิ้งอมก๋อย และไม่ว่าจะกี่ปี จนผมขาวหรือเดินไม่ไหว ก็จะมาเยี่ยมกาแฟที่นี่ให้ได้เสมอ”