You are currently viewing ธุรกิจสีเขียว ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ โรงคั่วกาแฟรักษ์ป่า กับ Sustainable Business Model

ธุรกิจสีเขียว ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ โรงคั่วกาแฟรักษ์ป่า กับ Sustainable Business Model

          ธุรกิจ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ เรื่องราวการเบนเข็มครั้งสำคัญที่เปลี่ยนจากพ่อค้าขายผ้า มาเป็นพ่อค้ากาแฟ จากการบุกเบิก ‘ฝิ่นสู่กาแฟ’ ภายใต้แนวคิด ‘ที่ไหนสนขึ้น ที่นั่นกาแฟขึ้น’ ด้วยการให้ความรู้เกษตรกร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ปลูกกาแฟ พร้อมส่งเสริมการเกษตรไปพร้อมกัน 

 

          บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ ธุรกิจกาแฟครบวงจรแห่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีโมเดลธุรกิจในการพัฒนาคนในชุมชนให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อปรับใช้ในการผลิต ทั้งยังมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจกาแฟควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

              คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจนี้ เริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาทำงานร่วมกับชาวเขาในพื้นที่ โดยประกอบอาชีพขายผ้าทอมือ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และชาวเขาผู้อพยพเข้ามาสร้างรายได้โดยการปลูกฝิ่น จนทำให้เกิดปัญหายาเสพติด จึงมีโอกาสได้ร่วมมือทำงานกับหน่วยงาน NGOs จากต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่สูงทดแทนพืชเสพติดอย่างต่อเนื่อง 
 
             “ป๊ามีแต่กองกาแฟกองนี้ให้ลูกไปทำทุน” ประโยคทองที่ผู้ก่อตั้งส่งต่อและบอกกล่าวให้ทายาทธุรกิจสู่รุ่นถัดไปเข้ามาพัฒนาและสืบทอด 
          “ลองนึกภาพย้อนไปหลายปีก่อน จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีร้านกาแฟแม้แต่ร้านเดียว มีเพียงร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่รับกาแฟคั่วใส่ถังกระดาษไปขาย เราเป็นคนส่งให้ร้านค้าตักขายครั้งละ 100-200 กรัมให้ครูสอนศาสนา expat ต่างชาติที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่”
 
           เราถือเป็นบริษัททำกาแฟแห่งแรกของภาคเหนือที่แปรรูปเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ชื่อร้าน ‘ชาวไทยภูเขา’ เดินหน้าไปพร้อมการทำสินค้าแฮนด์เมด งานคราฟต์จากผ้าทอมือ
 
           จากคุณลุงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เคยนำต้นสนสามใบ ไม้โตเร็วมาปลูกเพื่อเป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูป่า  คุณพ่อของคุณนฤมล มีแนวคิดว่า ‘ต้นสนขึ้นที่ไหน ที่นั่นปลูกกาแฟขึ้น’ จึงรวมกลุ่มชาวเขาซึ่งเคยซื้อขายผ้าทอมือกันมา นำลูกสนตามพื้นป่าทำเป็นงานฝีมือส่งออก แต่ทำได้สักระยะก็ล้มเลิกไป เนื่องจากชาวเขาหันมาตัดต้นทิ้งเพื่อเก็บลูกสน อาชีพนี้จึงหายไปและกลายเป็นการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟทดแทน 
 
            ‘ลูกสน’ เหล่านั้นกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ ที่เป็นเข็มทิศชี้นำทางและสร้างบทเรียนเรื่องการทำลายป่า รวมถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ต้นน้ำมาจนถึงทุกวันนี้
พร้อมถ่ายทอด ให้ความรู้เรื่อง ‘ธุรกิจร้านกาแฟ’ 
 
              หลังจากเข้ามาสานต่องานของครอบครัวได้ระยะหนึ่ง คุณนฤมล มีโอกาสเดินทางไปประเทศยุโรปและอเมริกา เริ่มเห็นว่าที่นั่นมีสังคมของคนรักกาแฟและมีการเติบโตของธุรกิจนี้ บวกกับได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ รินหัวใจใส่ธุรกิจ: สตาร์บัคส์ : กาแฟบันลือโลก ผู้เขียนคือ Howard Schult  ทำให้เห็นถึงการขับเคลื่อนธุรกิจกาแฟของอิตาลี ที่ทำออกมาเป็นกาแฟแบบสไตล์อเมริกัน เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเริ่มปักธงธุรกิจกาแฟที่โดยนำกาแฟไปขายที่กรุงเทพฯ 
          “ร้านที่กรุงเทพฯ ผลตอบรับดีมาก เพราะเราขายของดีในราคาไม่แพง จากนั้นจึงเริ่มเป็นซัพพลายเออร์ให้กับร้านกาแฟอื่น ๆ จนเติบโต กลายเป็น One Stop Service ของคนทำร้านกาแฟ มีการสอน อบรมให้กับผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้กาแฟชาวไทยภูเขา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงจุดจบของธุรกิจกาแฟ เพราะเรามุ่งหวังให้ทุกส่วนมีการเติบโตไปพร้อม ๆ กันกับตลาดกาแฟที่โตปีละ 560%” 
 
            คุณนฤมล อธิบายว่า นอกจากกาแฟ เรายังเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเครื่องทำกาแฟด้วย ส่วนเมล็ดกาแฟเราทำเอง 100% จนกระทั่ง 2 ปีที่แล้วเกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้ผลผลิตเสียหายและวัตถุดิบลดลงไปเรื่อย ๆ กว่า 30-60% จากราคาเมล็ดกาแฟที่กำลังทำรายได้ที่ดีให้เกษตรกร กลายเป็นความเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ จึงเริ่มนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ
 
             เนื่องจากเราเป็นธุรกิจต้นน้ำ จึงเริ่มมีการทำธุรกิจแปรรูปหลังเก็บเกี่ยวด้วยกระบวนการทางชีวภาพ สิ่งหนึ่งที่เป็นโมเดลธุรกิจของเรา คือไม่ใช้สีของเมล็ดกาแฟนำคุณภาพ แต่จะรับซื้อกาแฟตามค่าความหวาน (Sweetness buying process) วิธีการแบบนี้ทำให้ใช้ประโยชน์จากกาแฟได้ทั้งผล ซึ่ง ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ จะสนับสนุนให้ทุกคนคิดก่อนใช้ ทรัพยากรควรได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ จากการใช้ซ้ำ และหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
ไม่ทอดทิ้งต้นน้ำ-เติบโตไปพร้อมกัน
 
            จากธุรกิจที่สืบทอดจากรุ่นคุณพ่อจนถึงปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “จากจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจกาแฟไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่เรามีการส่งเสริมการปลูกต้นกาแฟ โดยช่วงแรกเราแจกให้เกษตรกรนำไปปลูกฟรี รวมถึงมีพื้นที่ให้คนบนดอยและคนที่อยู่พื้นราบได้ปลูกแบบพึ่งพาอาศัยกัน จนวันนี้เกษตรกรได้ปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เราเริ่มมีกำไรทางธุรกิจ ฉะนั้นเราจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้มากลับไปพัฒนาต้นน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
โรงงานกาแฟสีเขียว กับ Sustainable Business Model
 
             ทราบหรือไม่ว่าในมุมหนึ่ง ‘กาแฟ’ กำลังถูกกีดกันและถูกมองว่าเป็นพืชที่ทำลายป่า คุณนฤมล ตั้งคำถามพร้อมอธิบายว่า จากวันที่โรงงานของเราย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่แตง ในพื้นที่มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดที่อยากปลูกกาแฟ จึงปลูกโดยที่ไม่มีความรู้ เราจึงเข้าไปสอนเขา ในการพัฒนาธุรกิจต้องมีเป้าหมาย ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ มีแนวคิดในการสร้างโมเดลธุรกิจแบบยั่งยืน (Sustainable Business Model) ซึ่งความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรเท่านั้น แต่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย 
 
             “เราลงทุนกับงานวิจัยสูงมาก การวางตำแหน่งธุรกิจของเราอาจจะต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะเราเน้นเรื่องธุรกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โรงงานเราเป็น Zero Waste 100% นอกจากนี้เราทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โปรดักส์ มีโรงงานแบบ Deduction”
‘Jump out of the cups’ – ออกจากแก้วกาแฟ
 
            คุณนฤมล กล่าวว่า มีไอเดียหนึ่งอยากนำเสนอ คือ ‘Jump out of the cups’ ชวนทุกคนออกจากแก้วกาแฟ เรามองน้ำสีดำในแก้วแล้วเห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรง กาแฟสำหรับทุกคน คือ The best in the cup ตลาดกาแฟเป็นตลาด Super Red Ocean แต่ธุรกิจภูธรเล็ก ๆ อย่างเราต้องดูว่ามีศักยภาพอย่างไร
 
               การสร้างกาแฟต้องมีมูลค่ามากกว่าน้ำสีดำ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ จึงทำวิจัยทุกส่วนของกาแฟ เราได้รางวัลในระดับนานาชาติ ทั้งยังได้รางวัลเหรียญทองด้านงานวิจัยกาแฟให้กลายเป็นความหลากหลาย เช่น อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระแอนไทน์ออกซิแดนท์สูง เป็น Balsamic vinegar, Cyder of Coffee เหมือนที่เรานิยมบริโภคเครื่องดื่มแบบคอมบูชาอยู่แล้ว กาแฟมีประโยชน์ไม่ต่างกัน 
 
               โลกของกาแฟไม่ได้มีเพียงรสชาติจากเมล็ดสีเขียวแล้วนำไปคั่วเป็นสีน้ำตาล แต่ยุคนี้ กาแฟที่มาจากลูกทั้งลูก ใช้ขนจากผลมาสร้างรสชาติ ซึ่งเรามีข้อมูลทางงานวิจัยมาสนับสนุนว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพยังไงมากกว่า 
 

            ซึ่งจากการวิจัยคุณประโยชน์ของกาแฟเชอร์รี่ ค้นพบโดยหน่วยวิจัยพัฒนาของเรา ที่สังเกตเห็นว่าเนื้อผลกาแฟเสียไปอย่างน่าเสียดาย จึงทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกร ทีมนักวิจัยภายในและภายนอก และได้พบว่าเนื้อผลกาแฟนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องดื่มให้แคลเซียมที่มีความหอมและอร่อยอีกด้วย

Upcycling สร้างประโยชน์ 
 
             ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ มีการนำองค์ความรู้จากศาสตร์หลายแขนง เสริมสร้าง พัฒนาให้เกิดสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อมาต่อยอดหมุนเวียนทรัพยากรในท้องถิ่น ส่วนที่เหลือทิ้งเป็นขยะ เรานำกลับมาเป็นประโยชน์กับสุขภาพ คือพัฒนาเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยควบคุมและลดไขมันตัวร้าย  LDL , Triglyceride  งานวิจัยนี้ทดลองในมนุษย์  Clinical Study เราอยากพาประเทศไทยข้ามผ่านไปสู่อาหารอนาคต คือ Novel Food ชิ้นแรกของไทยที่มีการรับประกันเรื่องดีต่อสุขภาพด้วย ทั้งหมดเริ่มต้นจากกาแฟ ด้วยความเชื่อว่ากาแฟเป็น Super Food ได้ 
             คุณนฤมล เผยว่า การดื่มกาแฟ เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ ที่รวมเอาคอกาแฟมาคุยในเรื่องเดียวกัน เมนสตรีมที่ผ่านมา ตลาดกาแฟจะขายกันที่ความ Specialty คือกาแฟที่พิเศษ วัดกันตั้งแต่เมล็ดกาแฟจนถึง Process ปีที่ผ่านมาเรามีการออกผลิตภัณฑ์ Specialty Coffee Ester Process เป็นที่แรกในประเทศไทย นอกจากเรื่องรสชาติ สิ่งหนึ่งที่เรารับประกันกับลูกค้าได้ คือความปลอดภัย มี ISO 22000 ซึ่งเป็นระบบการจัดการความปลอดภัยเกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อกาแฟ 1 ถุง หรือหลักสิบตัน คุณก็ได้มาตรฐานเดียวกัน เป็นหนึ่งในหลักการที่ทำให้ลูกค้าไม่ทิ้งเรา
 
              สิ่งสำคัญ คือเราให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอนเครดิต อยากชวนทุกคนมาใส่ใจโลก ให้เขารู้ว่าคนตัวเล็กก็ทำได้ เราลดของเราไปเรื่อย ๆ  เป้าหมายต่อไปที่อยากทำ คือเรามีโรงคั่วที่ถือว่ามีการคั่วเยอะที่สุดในภาคเหนือ จึงอยากเห็นการเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก 
ธุรกิจต้นน้ำ กับกฎหมาย ‘ปลอดการทำลายป่า’ 
 
             ตามที่รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบกฎหมายห้ามนำสินค้าตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products)  ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเกษตร อย่างกาแฟด้วย ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่ทำธุรกิจส่งออกกาแฟ เนื่องจากต้องแสดงหลักฐานการตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ (Due Diligence) ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ประเด็นนี้ คุณนฤมล เผยว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำธุรกิจส่งออกเป็นหลัก แต่เราใส่ใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะผู้บริโภคในประเทศเองก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสินค้าที่ Deforestation-free ไม่แพ้กัน

             เมื่อมีเกณฑ์เรื่องนี้ออกมา ทำให้เป็นความท้าทายของธุรกิจที่จะต้องก้าวไปข้างหน้าให้เหนือกว่านั้น วันนี้เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset)  ให้ได้ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ใช่แค่พูด แต่ทุกธุรกิจต้องทำ 

 

 

ขอบคุณข่าวสารจาก :  Bangkok Bank SME

https://www.bangkokbanksme.com