หากคุณเป็นคนที่ชอบสังสรรค์ หรือชอบกินอาหาร ประเภทคาร์โบไฮเดรต ของหวาน ของมัน หรือของทอดอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคร้าย อย่าง โรคไขมันพอกตับ ซึ่งมีหลายคนที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังประสบกับโรคนี้ เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ และหากปล่อยลุกลาม อาจต้องเผชิญกับโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด ดังนั้นบทความในวันนี้ Hillkoff จะมาบอกสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น โรคไขมันพอกตับ อยู่หรือไม่? ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย
โรคไขมันพอกตับ อันตรายอย่างไร ทำไมต้องระวัง
“ตับ” อวัยวะสำคัญที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในร่างกาย ทำหน้าที่ทำลายสารพิษต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายจากเลือด และเป็นที่กักเก็บพลังงานในรูปแบบไขมัน เพื่อใช้สร้างเป็นแหล่งพลังงาน แต่หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง หรือมีไขมันสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ หรือที่เรียกว่า “ไขมันพอกตับ” ได้
โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) หรือไขมันเกาะตับ เกิดจากการสะสมของไขมันในตับมากเกินไป และไม่แสดงอาการเจ็บปวด โดยจะมีปริมาณไขมันอยู่ที่ประมาณ 5-10% ของตับ ซึ่งไขมันที่เข้าไปเกาะตับมักจะเป็นไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ ภาวะนี้พบได้บ่อย และทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติ โดยโรคไขมันพอกตับแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1: ไขมันจะเริ่มก่อตัวขึ้นบริเวณเนื้อตับ แต่จะไม่เกิดการอักเสบ หรือพังผืด
- ระยะที่ 2: บริเวณตับจะเกิดการอักเสบ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะที่ 3: เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง โดยตับจะถูกทำลาย และทดแทนด้วยพังผืด
- ระยะที่ 4: เซลล์ตับจะถูกทำลายส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
สาเหตุ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไขมันพอกตับ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับ มีทั้งหมด 2 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
- เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ
เช่น การรับประทานอาหารประเภทหวาน มัน คาร์โบไฮเดรตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ของโรคไขมันพอกตับ คือ
- กลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดจำนวนมาก
- ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิเบล
- ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
รู้ให้ทัน!! อาการของโรคไขมันพอกตับ
โรคไขมันพอกตับ สามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มสุราเป็นประจำ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ถึงแม้ว่าไขมันพอกตับจะไม่มีอาการเฉพาะ แต่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ เช่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- นอนไม่หลับ
- มีอาการปวดจุกแน่นชายโครง
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
วิธีการป้องกัน และวิธีลดความเสี่ยงจากโรคไขมันพอกตับ
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน ควรออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างน้อย 0.5-2 กิโลกรัม/เดือน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีไขมันต่ำ อาหารกากใยสูง และให้พลังงานต่ำ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- งด หรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2-3 แก้ว/วัน และสำหรับผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1-2 แก้ว/วัน
- ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง
นอกจากนี้คุณสามารถตรวจการทำงานของตับได้ 2 วิธี คือ
- การตรวจ Liver Function Test
คือ การตรวจว่าการทำงานของตับมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งทางการแพทย์จะตรวจให้ได้ก็ต่อเมื่อต้องการตรวจหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป