You are currently viewing โรคความดัน คืออะไร

โรคความดัน คืออะไร

โรคความดัน คือ ชื่อที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด และส่งผลไปยังระบบอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย โดยโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่สร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยอย่างมาก เพราะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจำกัดด้านอาหารการกิน ซึ่งอาจทำให้เสียสุขภาพจิต หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตลอดเวลา 

ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งทุกคนอาจเป็นโรคนี้ได้หากไม่รักษาสุขภาพ โดยวันนี้ Hillkoff จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความดัน ว่ามีอาการอย่างไร และคนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้

รู้ไว้ไม่เสี่ยง โรคความดัน เกิดจากอะไร ?

โรคความดัน คือ ภาวะที่ร่างกายมีความดันในหลอดเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดแดงเกิดความเสียหาย และนำไปสู่ภาวะอันตรายต่าง ๆ เช่น ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ภาวะหลอดเลือดอุดตัน และภาวะหลอดเลือดแตก ซึ่งภาวะเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนอย่าง โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต และโรคสมองเสื่อม หรือในกรณีที่มีความรุนแรงมาก ก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคความดัน มีอาการอย่างไร ?

โรคความดัน คือ

เนื่องจากโรคความดันเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ และไม่มีสัญญาณใด ๆ แจ้งเตือน โดยอาการผิดปกติมักจะสังเกตได้ตอนที่มีอาการรุนแรง หรือในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถสังเกตได้จากอัตราการวัดความดันโลหิต เพราะถ้าหากความดันมีระดับที่สูงผิดปกติ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยเกณฑ์การวัดความดันโลหิต มีดังนี้

  • การวัดความดันโลหิต

ค่าความดันตัวเลขด้านบน คือระดับความดันโลหิตสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันตัวเลขด้านล่าง คือระดับความดันโลหิตต่ำสุดขณะที่หัวใจคลายตัว 

  • ความดันโลหิตเกณฑ์ปกติ คือ 120/80 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตค่อนข้างสูง คือ 121-139/80-89 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตสูงผิดปกติ คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 (mm/Hg) และตัวล่างมากกว่า หรือเท่ากับ 90 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตระดับอันตราย 160/100 (mm/Hg)
  • อาการที่สังเกตได้ เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น

แม้ว่าโรคความดันจะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้น ผู้ป่วยจะแสดงอาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

  • ปวดหรือมึนบริเวณท้ายทอยหลังจากตื่นนอน
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • มีการมึนงงที่ศีรษะ
  • คลื่นไส้ และอาเจียน
  • หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยครั้ง
  • มีอาการเหนื่อยง่าย

โรคความดัน เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต ?

โรคความดัน คือ

โรคความดันมีความอันตราย เพราะเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนมากมายที่เสี่ยงต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากโรคความดันโลหิต เป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการไหลเวียนภายในเลือด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงร่างกาย หรือระบบโลหิตทำงานผิดปกติ จะเกิดความเสียหายต่ออวัยวะ และนำมาสู่โรคแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

  • หัวใจวาย

อาการหัวใจวาย เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และผนังหัวใจห้องล่างซ้ายมีความหนาเพิ่มขึ้น ภาวะดังกล่าวจะทำให้เลือดดีจากปอด และหัวใจห้องซ้ายบนไม่สามารถไหลลงไปยังหัวใจห้องล่างซ้ายได้ ทำให้หัวใจโต และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด 

  • ไตวาย

อาการไตวาย มีผลจากโรคความดัน ทำให้แรงดันที่กระทำกับผนังหลอดเลือดแดงที่ไต และหลอดเลือดฝอยในหน่วยไตย่อย มีความสูงมากกว่าปกติ ส่งผลให้การทำงานของหน่วยไตย่อยผิดปกติ จึงเสี่ยงต่ออาการไตเสื่อม และไตวายเรื้อรัง

  • หลอดเลือดสมอง

โรคความดัน เป็นโรคที่มีผลโดยตรงต่อหลอดเลือดสมอง โดยหากร่างกายมีความดันโลหิตที่ไม่ปกติ จะส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน เป็นที่มาของการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และในบางรายอาจทำให้หลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอัมพฤกษ์ และอัมพาต ที่สร้างความลำบากให้แก่ชีวิต ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ใครที่เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ?

โรคความดัน คือ

โรคความดัน ถือเป็นโรคที่อันตราย และไม่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เพราะเป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นคุณควรหมั่นตรวจสุขภาพ และศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคความดันโลหิต นอกจากนี้ เราได้รวมคำแนะนำมาให้กลุ่มคนที่มีอาการเสี่ยงมาไว้ ดังนี้

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดัน โดยสาเหตุมาจากการทำงานของไต ที่มีการดูดซับโซเดียมเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลที่ไตทำงานหนักก็มาจากการเพิ่มขึ้นของกรดไขมันอิสระ โดยมักจะพบได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวมากเกินไป

  • ผู้ที่มีความเครียดสูง

ความเครียด จากโรคความดัน ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และเลือดสูบฉีดมากขึ้น จนหลอดเลือดทั่วร่างกายหดเกร็ง ส่งผลให้มีความดันสูงขึ้นในช่วงที่เครียด 

โดยอาการเหล่านี้ เรียกว่า ความดันสูงชั่วคราว ต่อมาเมื่อร่างกายหมดความกังวล ก็จะทำให้ความดันเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเครียดบ่อย ๆ  ส่งผลให้หลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และเกิดผลเสียในระยะยาว

  • ผู้ที่สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความดันชั่วคราวให้กับหลอดเลือด และสารในบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อการสูบฉีดเลือด และสามารถทำให้เกิดอาการหลอดเลือดตีบได้

  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และดื่มมาเป็นเวลานาน สามารถทำลายหัวใจได้ เพราะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเมื่อหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ การสูบฉีดเลือดก็จะมีความไม่ปกติตามไปด้วย นำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

  • ผู้ที่ทานรสเค็มจัด

โรคความดัน เป็นโรคที่เกิดจากการดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือด โดยหากร่างกายได้รับเกลือในปริมาณมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดัน อีกทั้งอาหารที่มีโซเดียมสูงอาจส่งผลให้เกิดการคั่งของของเหลวทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง

ดังนั้น โรคความดัน คือ โรคที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ซึ่งหากไม่ปรับพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ทางป้องกันที่ดีคือการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์