You are currently viewing ความดันสูงเฉียบพลัน สังเกตได้อย่างไร?

ความดันสูงเฉียบพลัน สังเกตได้อย่างไร?

ความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย เนื่องจากไม่มีอาการที่แน่ชัด ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และมักจะเข้ารักษาเมื่อมีอาการแทรกซ้อนแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผลการรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าการควบคุมความดันโลหิตให้ปกติตั้งแต่ระยะแรก

โดยบทความในวันนี้ Hillkoff อยากส่งต่อความรู้เกี่ยวกับอาการความดันสูงเฉียบพลัน เพื่อเช็กให้ละเอียดว่าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ ซึ่งเราได้รวบรวมสาเหตุของการเกิดความดันสูงเฉียบพลัน รวมถึงโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมาไว้ให้คุณแล้ว เพื่อการรักษาโรคความดันสูงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

รู้ให้ลึก ความดันสูงเฉียบพลัน เกิดจากอะไร

ความดันสูง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันสูง ยังไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าแท้จริงแล้วเกิดมาจากอะไร เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่จากจำนวนผู้ป่วยกว่า 95% มีปัจจัยจากการทานอาหารรสเค็มจัด ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น และการใช้ฮอร์โมนบางชนิด ถือเป็นความน่ากลัวของโรคความดันสูง และกลายเป็นภัยเงียบในร่างกายโดยไม่รู้ตัว 

วิธีสังเกต 4 อาการความดันสูงเฉียบพลัน 

วิธีการตรวจว่าเป็นความดันสูงหรือไม่ สามารถเช็กได้ผ่านวิธีการวัดความดัน โดยปกติแล้วค่าความดันปกติจะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากมีความดันสูงจะวัดค่าได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอาการความดันสูงเฉียบพลัน สังเกตได้ดังนี้

  1. วิงเวียนศีรษะ

ผู้ป่วยบางรายที่มีความดันสูง อาจมีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย ส่วนผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงมากแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เลือดกำเดาไหล และปวดศีรษะรุนแรง

  1. ใจสั่น

หนึ่งในอาการความดันสูงเฉียบพลันที่ไม่ควรมองข้าม คือ อาการใจสั่น ซึ่งเกิดจากหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ รู้สึกเหมือนตกจากที่สูง รวมถึงเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย หรือเวียนศีรษะ เพราะเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ 

  1. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เนื่องจากหัวใจทำงานหนัก และมีอัตราการหายใจมากกว่าปกติ รวมไปถึงอาการเหนื่อยเพลียหมดแรงจนไม่สามารถนอนราบได้ และจะต้องนอนศีรษะสูง หรือนั่งหลับเท่านั้น 

  1. สายตาพร่ามัว

ภาวะความดันโลหิตสูง อาจทำให้เส้นเลือดบริเวณจอตาแข็งกรอบ และขาดเลือดเลี้ยงบริเวณจอตา โดยอาการที่สังเกตได้คือ อาการตามัว ตาพร่า ซึ่งอาจทำให้ตาบอด และเกิดต้อกระจกได้ในที่สุด

ทำไมภาวะความดันสูงเฉียบพลัน ถึงน่ากลัวกว่าที่คิด

ความดันสูง

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวอาการความดันสูงก็เข้าสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแล้ว หากไม่รีบรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง 

ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรก ควรรีบรักษา และควบคุมความดันโลหิตให้กลับมาสู่ระดับปกติ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคความดันโลหิตได้แล้ว

รู้เท่าทัน ภาวะแทรกซ้อนจากอาการความดันสูงเฉียบพลัน

หากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง อาการความดันสูงเฉียบพลันก็เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่นับถอยหลังสู่ภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะที่สำคัญในร่างกาย โดยโรคที่ตามมาจากโรคความดันโลหิตสูง มีดังนี้

  • หัวใจวาย

ภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักยิ่งขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และยืดออก ทำให้เลือดดีจากปอด และหัวใจห้องบนซ้ายไม่สามารถไหลลงหัวใจห้องซ้ายได้ จนเกิดภาวะหัวใจโต หรือหัวใจวายในที่สุด 

  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงใหญ่บางส่วนมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดบางลง หากอาการร้ายแรงมากอาจทำให้เส้นเลือดปริแตก จนเกิดเป็นเลือดคั่งในช่องอก หรือช่องท้องได้ ถือเป็นโรคที่อันตราย และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้กะทันหัน

  • โรคเมตาบอลิก

โรคเมตาบอลิก เป็นโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีปัญหาต่อหลอดเลือด และหัวใจ จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

  • โรคหลอดเลือดสมอง

ความดันสูง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า เนื่องจากหลอดเลือดภายในร่างกายจะค่อย ๆ เสื่อม และตีบลงเรื่อย ๆ 

ความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน รักษาอย่างไรให้หายขาด

ความดันสูง

ภาวะความดันสูงเฉียบพลัน แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถควบคุมให้ค่าความดันคงที่ได้ ด้วยการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจวัดค่าความดันอย่างเป็นประจำ และตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งยังมีวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ ให้ความดันกลับมาปกติ ดังนี้

  • ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด โดยลดอาหารประเภทไขมัน และลดอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที
  • งดดื่มสุรา และสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน และเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เครียด เนื่องจากความเครียดมีผลต่อความดันโลหิตมาก ขณะที่เครียดความดันโลหิตอาจพุ่งสูงกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม อาการความดันสูงเฉียบพลัน เป็นภัยเงียบที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้น การเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต จะช่วยให้ร่างกายของคุณแข็งแรงอยู่เสมอ สำหรับการดูแลตัวเองของผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่