You are currently viewing มีความเสี่ยงเป็นโรค NCDs ปรึกษาหน่วยงานไหนได้บ้าง

มีความเสี่ยงเป็นโรค NCDs ปรึกษาหน่วยงานไหนได้บ้าง

โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทย โดยอาการของโรคจะดำเนินอย่างต่อเนื่อง จนผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีการดูแลที่ดี และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ก็จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้ปกติ 

ทั้งนี้โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนโดยตรง ดังนั้นเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน จึงต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมไปถึงการดูแล และให้การช่วยเหลือในด้านที่ทำได้ เช่น การอบรม การจัดตั้งหน่วยงาน เป็นต้น 

อีกทั้ง การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรค NCDs ยังสามารถนำไปวางแผน เพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกัน และลดจำนวนผู้ป่วย โดยวันนี้ Hillkoff จะพามาศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงานโรค NCDs เพื่อให้ทราบแหล่งข้อมูลในการดูแลตนเอง และคนรอบข้างได้ถูกต้อง

หน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรค NCDs

โรค NCDs

หน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ให้บริการสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพแก่ประชาชน โดยสำหรับโรค NCDs มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด รวมถึงมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานในการให้ข้อมูลโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วย หรือผู้ดูแลผู้ป่วยได้มีแหล่งข้อมูล และแหล่งพึ่งพิงเมื่อต้องการความช่วยเหลือ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

  • กองโรคไม่ติดต่อ

หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งรวมภารกิจเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ และการบาดเจ็บเข้าด้วยกัน มีหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาแนวทางป้องกัน ช่วยลดผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ โดยช่องทางในการเข้าถึงที่ง่ายที่สุด คือ เว็บไซต์ของกองโรคไม่ติดต่อ โดยมีข้อมูลที่สำคัญต่อผู้ป่วย ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ และแผนการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการดำเนินงาน และทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงเป้าหมายที่แน่ชัดในแต่ละปีที่กำหนดไว้
  • ข้อมูลโรคไม่ติดต่อ เป็นข้อมูลตัวเลขที่มีความสำคัญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถนำเข้ากระบวนการ โดยสร้างเป็นฐานข้อมูลเพื่อทำการวิจัย และหาแนวโน้ม ซึ่งเมื่อมีการเปิดเผย ก็หมายความว่าหน่วยงาน หรือองค์กรเอกชนอื่น ๆ สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาได้เช่นกัน
  • ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมโรคไม่ติดต่อ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เห็นพฤติกรรมของผู้ป่วย และรู้แนวโน้มที่เกิดขึ้นจริงจากการสำรวจ มักจะอยู่ในรูปของรายงาน แดชบอร์ด เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย

ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงผู้ที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงด้านตัวเลข และกิจกรรมของของกองโรคไม่ติดต่อ คือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาโรค NCDs ไม่ว่าจะเป็น องค์กรด้านเอกชน นักวิจัย และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของกองโรคไม่ติดต่อยังมีสื่อให้ความรู้มากมายแก่ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

องค์การมหาชนที่อยู่ในการดูแลของนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการด้านสุขภาพของประชาชนทุกด้าน ทั้งการเผยแพร่สื่อ และจัดตั้งแคมเปญต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ สำหรับเป้าหมายของ สสส. เกี่ยวกับโรค NCDs คือ

  • ลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง (เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี) ร้อยละ 25 ภายในปี 2568
  • เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

นอกจากนี้ทาง สสส. ยังมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรค NCDs อย่างเช่น หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน และตั้งศูนย์วิจัยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้น จึงจะเห็นได้ว่า สสส. เป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจัง เพื่อลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย

  • สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย

องค์กรกลางทำหน้าที่ประสานงาน ด้านการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ โดยตัวอย่างงานที่ดำเนินการมาแล้ว ได้แก่ การผลักดันในการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค NCDs การให้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรค NCDs ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งสมาคมจะเป็นอีกแรงที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย NCDs

เผยคำตอบ ! ประโยชน์หน่วยงานป้องกันโรค NCDs มีอะไรบ้าง

โรค NCDs

หน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือ และป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อเรื้อรังแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การให้ข้อมูล หรือการดำเนินกิจกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยตรงแล้ว องค์กรอื่น ๆ ยังสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับโรค NCDs ไปใช้ในการวางแผน เพื่อพัฒนาแนวทางป้องกัน โดยประโยชน์หลักของหน่วยงานด้าน NCDs มีดังนี้

  1. เป็นแหล่งข้อมูลหลักที่ให้รายละเอียดครบถ้วนสำหรับผู้ที่ต้องการข้อเท็จจริง
  2. ช่วยส่งเสริมการป้องกัน และการดูแลผู้ป่วยโรค NCDs ด้วยการสร้างกิจกรรม และการลงพื้นที่จริง
  3. เป็นแหล่งพึ่งพิง และช่วยประสานงานเพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน