You are currently viewing ข้อควรรู้! โรคความดันสูง มีค่าความดันปกติเท่าไหร่

ข้อควรรู้! โรคความดันสูง มีค่าความดันปกติเท่าไหร่

โรคความดันสูงร้ายแรงกว่าที่หลายคนเข้าใจ เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการจนกว่าค่าความดันจะเกินมาตรฐานไปมาก หรือร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน แม้คนที่ดูเหมือนสุขภาพร่างกายดี ก็อาจมีภาวะความดันสูงแฝงอยู่ได้ ดังนั้นจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้รู้เท่าทัน และรักษาโรคความดันสูงก่อนจะสายเกินแก้

โรคความดันสูง คืออะไร ภัยเงียบที่คร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว

โรคความดันสูง หรือความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปแล้วความดันสูงเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ แต่เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือไตวาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยความดันสูงต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้

ปกติแล้วความดันเฉลี่ยควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากสูงหรือต่ำกว่านี้อาจบ่งบอกได้ถึงการเป็นโรคบางอย่าง ซึ่งต้องดูช่วงอายุประกอบกับค่าความดันร่วมด้วย เพราะใช่ว่าความดันเกินกว่าหรือต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท จะแปลว่าอยู่ในภาวะวิกฤตเสมอไป แต่ละช่วงวัยก็มีตัวเลขความดันที่เหมาะสมต่างกัน ดังนี้

วัยทารก : ไม่ควรเกิน 90/60 มิลลิเมตรปรอท

เด็กเล็ก 3 – 6 ปี : ไม่ควรเกิน 110/70 มิลลิเมตรปรอท

เด็กโต 7 – 17 ปี : ไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท

วัยทำงาน 18 ปีขึ้นไป : ไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป : ไม่ควรเกิน 160/90 มิลลิเมตรปรอท

ทั้งนี้ ค่าความดันสูงเกินกว่าเกณฑ์ของแต่ละช่วงอายุ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความเหนื่อยล้า อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บที่แฝงอยู่ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม การพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด

สำหรับสาเหตุของโรคความดันสูงกล่าวว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยความดัน ไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร นอกนั้นก็สามารถพบได้จากการเป็นโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต หรือโรคหลอดเลือดบางประเภท ส่วนปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงมากขึ้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศ กรรมพันธุ์ หรือแม้แต่เชื้อชาติก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความดันสูง นอกจากนี้ การเป็นโรคอ้วน หรือรับประทานอาหารเค็มจัดเป็นประจำ ก็ส่งผลให้ความดันสูงขึ้นได้

ลักษณะอาการของโรคความดันสูง ไม่ควรปล่อยไว้นาน

ความดันสูง

จากที่กล่าวไปว่า ผู้ป่วยความดันสูงมักไม่แสดงอาการ แต่อาจมีบ้างที่รู้สึกปวดมึนท้ายทอย ตึงต้นคอ เวียนหัว หรือบางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะคล้ายไมเกรน สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะความดันสูงเป็นเวลานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ร่วมด้วย

โดยโรคความดันสูงนี้ แม้ตัวโรคจะไม่แสดงอาการมากนัก แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตในผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ หากปล่อยไว้นานจะเป็นบ่อเกิดของอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวายเรื้อรัง
  • หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
  • หลอดเลือดตีบ โป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง
  • มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม

โรคความดันสูง รู้ก่อน ป้องกันก่อน แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

ความดันสูง

แม้ว่าโรคความดันสูงจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายประการ แต่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางในการป้องกัน โดยโรคความดันสูงมักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม และการดำรงชีวิตประจำวัน หากปฏิบัติตนโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดภาวะที่ร่างกายจะเสี่ยงเป็นโรคความดันสูงได้แล้ว

แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพื่อให้แพทย์จ่ายยาลดความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะสามารถรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการความดันสูงได้ อีกประการหนึ่งคือการลดความเครียด หากิจกรรมผ่อนคลายจิตใจทำในยามว่าง รวมถึงการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรับประทานยาบางอย่าง ที่อาจทำให้ค่าความดันพุ่งสูงขึ้นได้ ก็เป็นอีกทางเลือกในการป้องกัน และรักษาโรคความดันสูง