บางคนก็เคยได้ยินคำว่า “Cold Brew” และบางทีก็ได้ยินคำว่า “Cold Drip” …ศัพท์กาแฟนี่มันเข้าใจยากจริงๆ!!
ทั้ง 2 คำนี้ มันมีความเหมือนที่แตกต่างกันอยู่ค่ะ กาแฟ Cold Brew และ กาแฟ Cold Drip ทั้งสองแบบนี้เป็นการสกัดกาแฟด้วยน้ำอุณหภูมิต่ำ หรือน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ต่างกันที่วิธีสกัด อย่าง Cold Brew สกัดด้วยการแช่ ส่วน Cold Drip สกัดด้วยการหยดน้ำทีละหยด
กาแฟ Cold Brew (กาแฟสกัดเย็น)
เป็นการสกัดกาแฟด้วยการแช่ (Immersion) โดยปกติใช้เวลาในการสกัดด้วยการแช่ไว้ไม่ต่ำว่า 8 – 24 ชั่วโมง ใช้กาแฟบดหยาบประมาณเศษขนมปังป่น สัดส่วนของกาแฟต่อน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1:12 – 1:15 รสชาติและความเข้มของกาแฟจะแตกต่างกันตามระยะเวลาที่สกัดทิ้งไว้ และอีกตัวแปลของรสชาติคือระดับการคั่วของเมล็ดกาแฟด้วย เพราะรสชาติการสกัดเย็นจะดึงรสเปรี้ยว (Acidity) ออกมาน้อย แต่จะดึงสัมผัสที่นุ่มละมุนออกมาทำให้ดื่มง่าย และในบางครั้งได้ความหวานมาด้วย ด้วยเป็นการแช่จึงสามารถทำได้ที่ละมากๆ อยู่ที่วัสดุที่ใช้แช่
Cold Drip (กาแฟหยดเย็น)
เป็นสกัดกาแฟผ่านเครื่องชงแบบเย็นส่วนมากมีลักษณะเป็นขวดโหล โดยใส่น้ำเย็นในส่วนด้านบน ใส่กาแฟบดลงไปในส่วนกระบอก เพื่อปล่อยให้น้ำหยดที่ละหยดผ่านผงกาแฟ ให้เกิดการสกัดมาที่โหลด้านล่าง สามารถตั้งค่าการหยดให้ช้าหรือเร็วได้ การปรับวาล์วน้ำหยดเร็วหรือช้าจะมีผลต่อรสชาติของกาแฟที่สกัดได้ การชง Cold Drip จะใช้เวลานานเช่นกัน เพราะต้องปล่อยให้กาแฟหยดลงมาอย่างช้า ๆ สัดส่วนของกาแฟต่อน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1:12 – 1:15 ใช้เวลานานถึง 3 – 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นอยู่ที่ตั้งการหยด แต่เร็วว่าการทำ Cold Brew รสชาติการสกัดได้รสชาติที่เข้มข้นชัดเจน กลมกล่อม และหอมหวาน ไม่ขม แต่ในส่วนของ Cold Drip จะทำได้ต่อครั้งในปริมาณน้อยเพราะอุปกรณ์จะมีขนาดเล็ก
โดยปกติด้วยอุณหภูมิที่ต่ำของน้ำการสกัดกาแฟผ่านน้ำเย็น จะให้สารประกอบต่างๆในกาแฟละลายออกมา แต่ก็ไม่สามารถสกัดสารต่างทั้งหมดออกมาเท่าการสกัดร้อน แม้จะแช่ไว้นานหลายชั่วโมงก็ตาม แต่สารที่ยังค้างอยู่ในการสกัดเย็น ก็จะไม่ส่งผลต่อเรื่องรสชาติแต่อย่างใด ซึ่งการปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จะเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ รสเปรี้ยวและความขมจะมีน้อย มีรสชาติเฉพาะ มีรสเปรี้ยวน้อย ไม่ขม มีกลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ดื่มได้นาน หลายสัปดาห์
เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy