วิธีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

วิธีการวินิจฉัยอาจขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความต้องการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งอาจมีวิธีการต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับเอนไซม์ในหัวใจ (Cardiac Enzyme Test) ในการตรวจสอบความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การเอกซเรย์ทรวงอก ใช้ตรวจดูสาเหตุและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขี้นบริเวณหัวใจ ปอดและผนังทรวงอก
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แพทย์จะฉีดสารทึบแสงเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อสร้างภาพอวัยวะและวัดปริมาณแคลเซียมสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้
  • การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยในการสร้างภาพหัวใจ โดยผู้ป่วยจะนอนหงายบนเครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์และติดตั้งแม่เหล็กโดยรอบ จากนั้นเครื่องสแกนจะสร้างภาพอวัยวะโดยคลื่นแม่เหล็ก
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/Elektrokardiogram: EKG) สามารถวัดระดับ อัตราและความคงที่ของการเต้นหัวใจ ทั้งยังแสดงถึงภาวะหัวใจวายที่เคยเกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น โดยการติดแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode Patch) บนแขน ขา และทรวงอกของผู้ป่วยเพื่อตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพของหัวใจ เพื่อแสดงความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ โครงสร้างและการสูบฉีดเลือด ซึ่งคล้ายคลึงกับการอัลตราซาวด์ที่ใช้ในการตรวจครรภ์ แพทย์จะทาเจลหล่อลื่นบริเวณทรวงอกของผู้ป่วยและใช้เครื่องทรานสดิวเซอร์ (Transducer) ตรวจโดยรอบ
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram หรือ Angiography/Cardiac Catheterization) คือการตรวจดูภายในหลอดเลือดหัวใจ โดยการฉีดสีเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจ (Angiogram) ผ่านการสอดท่อยาวขนาดเล็ก (Catheter) บริเวณขาหนีบ แขน หรือคอไปยังหลอดเลือดหัวใจ การฉีดสีจะช่วยสร้างภาพของหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน รวมถึงบ่งบอกถึงความดันโลหิตภายในหัวใจและสมรรถภาพในการสูบฉีดเลือด กระบวนการสวนหลอดเลือดหัวใจมีความปลอดภัยและมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เลือดออกเล็กน้อยหรือมีแผลฟกช้ำบริเวณที่สอดท่อเข้าสู่ร่างกาย แต่ในบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมากหรือไม่เกิน 1% เช่น ภาวะเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายอุดตันจากการหลุดลอยของคราบตะกรันไปอุดตามหลอดเลือดบริเวณต่าง ๆ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test: EST) ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อทราบถึงความแข็งแรงของหัวใจขณะสูบฉีดเลือด ทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุการเจ็บหน้าอก ซึ่งมักเป็นผลจากโรคหลอดเลือดหัวใจ บางกรณีแพทย์อาจใช้การอัลตร้าซาวด์ก่อนหรือหลังการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน (Exercise Stress Echocardiogram) หรืออาจใช้ยาเพื่อกระตุ้นหัวใจระหว่างการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  • เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring) ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อบันทึกความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • การทดสอบโดยการกัมมันตรังสี (Radionuclide Tests) คือการฉีดสารกัมมันตรังสีไอโซโทป (Radioactive Isotope) เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อทราบถึงประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดและการไหลเวียนของเลือดไปยังผนังกล้ามเนื้อหัวใจ

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


การรักษาด้วยตนเอง

  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมความเครียด
  • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำหรือน้ำตาลน้อย
  • ลดน้ำหนักส่วนเกิน
  • ควบคุมระดับน้ำตาล ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง
     

ข้อมูลสนับสนุนจาก : เพจ Pabpad