You are currently viewing 7 ปัญหาของการชงกาแฟที่พบบ่อยคืออะไร มาดูวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้กันค่ะ

7 ปัญหาของการชงกาแฟที่พบบ่อยคืออะไร มาดูวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้กันค่ะ

7 ปัญหาการชงกาแฟที่พบบ่อย

        ใครที่มีปัญหาในการชงกาแฟ วันนี้เรามีเคล็ดไม่ลับของการชงกาแฟมาฝากกันค่ะ

 

1. น้ำกาแฟไม่ร้อน

        อันดับแรก เช็คแรงดันและความร้อนของเครื่องให้มีอุณหภูมิพร้อมชงก่อนใช้งาน และเช็คความปกติของเครื่องก่อนการใช้งานค่ะ การชง เราสามารถเพิ่มความร้อนของแก้วกาแฟได้ด้วยการวอร์มแก้วให้ร้อนก่อนชงให้แช่น้ำร้อนในแก้วก่อนใช้ หรือเปิดฟังก์ชันอุ่นแก้วสำหรับเครื่องชงที่มีถาดอุ่นแก้วด้านบน วอร์มบาสเก็ตชงกาแฟและหัวกรุ๊ปก่อนชงทุกครั้งด้วยค่ะ โดยกดสกัดปล่อยน้ำไหลผ่านประมาณ 2-3 วินาที ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำกาแฟไม่ร้อนได้ และทำให้เราได้กาแฟที่ร้อนพร้อมเสิร์ฟค่ะ

7_ปัญหาของการชงกาแฟที่พบบ่อย_ในการชงกาแฟ_3
2. กากกาแฟเหลวไม่เป็นก้อน

        เกิดจาก – การสกัดกาแฟที่บดละเอียดเกินไป – ใช้น้ำหนักกดกาแฟ (Tamp) หนักเกินไป – หรือแม้กระทั้งการโดสกาแฟที่น้อยเกินไป ทำให้น้ำที่สกัดกาแฟไม่สามารถไหลผ่านกาแฟได้หมด เพราะตัวเนื้อกาแฟที่บดละเอียดเกินไปจะทำให้เกิดน้ำค้างที่ผิวหน้ากาแฟในบาสเก็ตขณะทำการสกัด ทำให้ก้อนกาแฟแตกตัว เกิดกากแฟเหลวแฉะไม่เป็นก้อนนั่นเอง สิ่งสำคัญคือ ความละเอียดของการบด การใช้น้ำหนักกดกาแฟ และปริมาณโดสกาแฟ ทุกส่วนนั้นสัมพันธ์กัน รวมถึงการเลือกเมล็ดกาแฟมาใช้ด้วยนะคะว่าเป็นการคั่วระดับไหน ต้องปรับเบอร์บดให้พอดีกับปริมาณโดสกาแฟค่ะ เมื่อทุกส่วนสัมพันธ์กันเราก็จะได้กากกาแฟเป็นก้อนเค้กค่ะ

7_ปัญหาของการชงกาแฟที่พบบ่อย_ในการชงกาแฟ_

3. น้ำสกัดกาแฟไหลทะลักจากหัวกรุ๊ปตอนสกัดกาแฟ

        เช็คการใส่ก้านชงกับหัวกรุ๊ปว่าเข้าล็อกดีไหม ถ้าเข้าล็อกดีแต่ยังมีน้ำกาแฟไหลออก ให้เช็คปริมาณโดสกาแฟค่ะ เพราะอาจจะโดสแน่นเกินไปทำให้น้ำกาแฟล้นทะลักออกมา หรือเกิดจากโอริงเสื่อมสภาพก็ได้เช่นกันค่ะ แนะนำให้ตรวจเช็คโอริงหลังจากใช้งานมาแล้วทุก 3-6 เดือน นะคะ

 

4. กาแฟที่สกัดออกมาไม่มีครีม่า (Crema)

        มักเกิดจากการบดกาแฟหยาบเกินไป ให้ทดลองปรับการบดให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นรวมถึงการกดกาแฟให้แน่นขึ้น

        กาแฟที่บดทิ้งไว้เป็นเวลานานไม่ควรใช้เพราะแก๊สในตัวกาแฟที่เป็นตัวผลิตครีม่าจะละเหยไปหมด รวมถึงเมล็ดที่เก่าก็ไม่ควรใช้แล้วเพราะอาจเกิดกลิ่นอับรวมถึงไม่มีครีม่าค่ะ

 

5. สกัดกาแฟแล้วน้ำไม่ไหลออกมาหรือไหลออกมาช้ามาก ลองไปดูกันที่ละส่วนนะคะ

        การสกัดกาแฟ อยู่ในขั้นตอนการบดเมล็ดกาแฟที่ละเอียดมากเกินไป และน้ำหนักกดกาแฟ (Tamp) หนักเกินไป ทำให้น้ำกาแฟไม่ไหล-ไหลช้า เบื้องต้นให้ลองปรับแก้ด้วยการปรับลดเบอร์บดให้หยาบขึ้นที่ละนิดรวมถึงปรับลดแรงกดให้มีน้ำหนักแน่นพอดีในการกดแต่ละครั้งค่ะ ส่วนเครื่องชงกาแฟขนาดเล็ก ปกติจะมีถังน้ำขนาดเล็กอยู่ในตัวเครื่อง ถ้าน้ำหมดแทงค์หรือเหลือน้อยมาก ตัวเครื่องจะไม่สามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้งานในการสกัดได้ ทำให้สกัดกาแฟแล้วน้ำไม่ไหลหรือไหลออกช้า ดังนั้นต้องสังเกตน้ำในถังเก็บน้ำให้พร้อมชงเสมอค่ะ

 

6. เครื่องชงเกิดการบล็อกน้ำ

        มักเกิดกับเครื่องชงขนาดใหญ่หรือเครื่องชงที่ติดตั้งแบบดูดน้ำจากแกลลอนน้ำ กรณีนี้จะทำให้เครื่องดูดน้ำได้ไม่เต็มที่ จนในบางครั้งหากกดน้ำมาสกัดกาแฟขณะน้ำใกล้หมดหรือหมดถัง เครื่องชงจะเกิดการบล็อกน้ำ เพราะดูดอากาศเข้าไปและทำให้เครื่องไม่ดูดน้ำเข้าเครื่อง แม้จะเติมน้ำหรือเปลี่ยนถังแล้วก็ตาม

        วิธีแก้~ปิดเครื่องแล้วไล่น้ำให้ออกทางท่อสตีมและหัวชงให้หมดแล้วเปิดเครื่องใหม่ กรณีนี้ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจจะทำให้หม้อต้มหรือปั๊มน้ำพังได้ดังนั้นต้องระวังไว้นะคะ

        ที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามส่วนเล็กๆ คือ บาสเก็ตและหัวกรุ๊ปเครื่องชง หมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกอุดตันและป้องกันเครื่องบล็อกน้ำค่ะ

7_ปัญหาของการชงกาแฟที่พบบ่อย_ในการชงกาแฟ_2

7. การสตีมนมที่ไม่ขึ้นฟอง

        ให้ตรวจสอบท่อสตรีมก่อนเลยค่ะ ว่ามีนมอุดตันที่ช่องรูอากาศของท่อสตีมไหม ถ้ามีให้ล้างให้สะอาดด้วยการแช่น้ำร้อนทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นเปิดท่อสตีมเป่าให้รูท่อสตีมโล่ง แล้วใช้ผ้าเช็ดให้สะอาด

        มาต่อที่การสตีมนมกันค่ะ เริ่มจากเช็คปริมาณของน้ำนมสดให้เพียงพอต่อการสตีม และนมสดที่นำมาสตีมต้องเย็นจัด ถ้าทำให้พิชเชอร์หรือเหยือกใส่นมมีความเย็นจัดด้วยได้ยิ่งดี เพราะนมที่เย็นจะทำให้สตีมขึ้นฟองได้ง่าย ฟองนมขึ้นฟู เนียนนุ่ม ไม่ยุบตัวง่าย หากนมหรือพิชเชอร์ไม่เย็นพอการสตีมให้เกิดฟองจะทำได้ยาก สาเหตุมาจากเมื่อสตีมนม อุณภูมินมจะร้อนขึ้นไวกว่านมที่เย็น ทำให้ไม่สัมพันธ์กับฟองนม (นมร้อนแล้ว แต่ฟองยังไม่ขึ้นฟู) และที่สำคัญควรเช็ควันหมดอายุของนมก่อนนำมาใช้ด้วยนะคะ เพราะนมใกล้หมดอายุตีฟองขึ้นยากเช่นกันค่ะ

 

 

หมายเหตุ

        การสตรีมนมเพื่อให้ขึ้นฟองสวยงาม ควรอยู่ในระหว่างอุณหภูมิ 65-67 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความหวาน และรสชาติที่ดีให้กับฟองนมแบบธรรมชาติ

        ** รู้ปัญหาและการแก้ปัญหากันแล้ว ลองทำตามดูนะคะ **

 

 

 

เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy