หากมองผิวเผิน หลายคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นปกติ ไม่มีเรื่องอะไรให้กังวลใจแม้แต่น้อย แต่รู้หรือไม่? ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ราบรื่น ไม่มีสัญญาณอันตรายเตือนใด ๆ นั้น อาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า โรค NCDs ได้โดยที่ไม่รู้ตัว และถ้าเกิดปล่อยผ่าน หรือไม่ได้รับการดูแลและการรักษาที่ถูกต้องก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาวได้
วันนี้ Hillkoff จะพาทุกคนมารู้จักกับ “โรค NCDs” ให้มากขึ้นกว่าเดิมกัน ว่าโรค NCDs นี้มีลักษณะ และสาเหตุของการเกิดโรคจากอะไร พร้อมรู้เท่าทันวิธีการดูแล และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ห่างไกลจากโรค NCDs กัน ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง Hillkoff มีคำตอบ ตามมาดูกันเลย
ทำความรู้จัก โรค NCDs คืออะไร?
ก่อนที่จะไปดูวิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค NCDs เรามาทำความรู้จักโรค NCDs กันก่อนดีกว่า ว่าโรคนี้มีลักษณะอย่างไร โดยโรค NCDs หรือ Non Communicable Diseases คือ กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึ่งจะไม่สามารถติดต่อ หรือแพร่กระจายจากคนสู่คนได้
แต่โรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากนิสัย และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน จนทำให้มีการสะสมอาการอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดกลุ่มโรค NCDs ซึ่งหากไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือดูแลรักษาที่ถูกวิธีก็จะเสี่ยงทำให้เป็นโรคตลอดชีวิต หรืออาจส่งผลถึงชีวิตของคุณได้
ซึ่งมีผลสำรวจออกมาเผยแพร่แล้วว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 14 ล้านคน โดยแต่ละปีจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 340,000 คนต่อปี คิดเป็น 74% ของการเสียชีวิตคนไทยในแต่ละปี และเฉลี่ยผู้เสียชีวิตรายชั่วโมงอยู่ที่ 37 คน ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรค NCDs โดยส่วนใหญ่ จะจัดอยู่ในกลุ่มคนวัยทำงานที่ใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง ไม่ระมัดระวังในการใช้ชีวิตจนเสี่ยงเป็นโรค NCDs
สาเหตุ และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรค NCDs
อย่างที่ได้บอกไปในข้างต้น ว่าโรค NCDs เป็นโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้ชีวิตที่หนักหน่วงจนเกินไปจนทำให้เกิดโรค NCDs โดยสาเหตุหลัก ๆ เกิดจาก
- การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากจนเกินไป
- การสูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การที่ไม่ออกกำลังกาย
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ ชอบนอนดึก หรือนอนน้อย
- การที่มีภาวะความเครียดสูงมากเกินไป
- การรับประทานยาโดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ถาโถมมากจนเกินไป ส่งผลให้คุณไม่มีเวลาพักผ่อน หรือดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ จนนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่ม NCDs
กลุ่มโรค NCDs (Non Communicable Diseases) มีโรคอะไรบ้าง?
สำหรับโรค Non Communicable Diseases หรือโรค NCDs จะมีด้วยกันทั้งหมด 7 กลุ่มโรคด้วยกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบไปด้วยโรค ดังต่อไปนี้
1. โรคความดันโลหิตสูง
คือ โรคที่มีการวัดระดับความดันโลหิตได้มากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 mmHg
2. โรคเบาหวาน
คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินซูลิน (Insulin) ที่ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ
3. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ หรือแคบลง ปริมาณเลือดแดงจึงผ่านได้น้อย ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเกิดการอุดตันได้
4. โรคหลอดเลือดสมอง
คือ โรคที่เกิดจากการที่สมองขาดเลือดจากการที่เส้นเลือดในสมองตีบ หรืออุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ส่งผลทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน หรือสมองตายได้
5. โรคไขมันในเลือดสูง
คือ โรคที่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เกิดจากการรับประทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ ทานอาหารที่มีไขมันมากจนเกินไป หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และเป็นประจำ
6. โรคถุงลมโป่งพอง
คือ โรคที่เกิดจากการสะสมของมลพิษ ผ่านการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในหลอดลม ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ ซึ่งโรคนี้อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวได้
7. โรคมะเร็ง
คือ โรคที่เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วจนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ จึงแพร่กระจาย และลุกลามไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวจนไม่สามารถทำงานได้
หลีกเลี่ยงโรค NCDs ได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณ
ด้วยความที่โรค NCDs เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ดังนั้น แนวทางการป้องกัน และวิธีการหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากโรค NCDs ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มที่ตัวเอง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ
-
-
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร โดยคุณจำเป็นต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีรสจัดเกินไป และต้องเป็นอาหารที่มีไขมันไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ยังควรทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้มากกว่าอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน หรือน้ำตาล ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไขมันในเลือดสูงได้
-
-
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อวัน เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรค NCDs ได้ โดยหนึ่งวันคุณควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสะสมพลังงานไว้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
-
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ
หลายคนคงไม่มีกะจิตกะใจที่จะออกกำลังกาย เพราะในแต่ละวันร่างกายสูญเสียพลังงานไปมากจากการทำงาน และการดำเนินชีวิต ถ้าจะให้ออกกำลังกายเพิ่มอีกคงจะหมดพลังจนไม่มีแรงทำอะไรแล้ว!! ใครที่มีความคิด หรือทำพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ ให้ลบล้างความคิดเหล่านี้ออกไปให้หมด
เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยเผาผลาญอาหารประเภทน้ำตาล และไขมันได้ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคไขมันในเลือดสูง
-
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยรักษาสมดุลของร่างกายให้ดี ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญไขมันเลว ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าของคุณ ดังนั้น ในหนึ่งวันคุณควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน
-
-
งดการสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่ก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าหากคุณอยากห่างไกลโรคกลุ่ม NCDs คุณต้องเลิกสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้ประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ หรือเสียการควบคุม