หากพูดถึง “โรคเบาหวาน” หลาย ๆ คนเข้าใจว่าสาเหตุโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการทานอาหารที่มีรสจัด หรือทานอาหารที่มีรสหวานมากจนเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคเบาหวานอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยที่คุณคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น ความอ้วน มีน้ำหนักตัวมากจนเกินไป ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือเป็นคนที่มีไขมันในเลือดสูง ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานทั้งนั้น
ดังนั้น หากคุณมีพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว อยากรู้ว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวานหรือไม่นั้น ก็มาติดตามเช็กสัญญาณโรคเบาหวานไปพร้อม ๆ กับ Hillkoff กันได้เลย เพราะเราจะพาทุกคนมาดู อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก ไปพร้อม ๆ กัน
ทำความรู้จัก “โรคเบาหวาน” โรคกลุ่ม NCDs
โรคเบาหวาน (Diabetes) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการทำงานของฮอร์โมนที่มีชื่อว่าอินซูลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราต่างต้องมีอินซูลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง และกล้ามเนื้อ
แต่ในภาวะที่เกิดจากความผิดปกติจากการทำงานของอินซูลิน จะเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เกิดการลดลงของปริมาณอินซูลินในร่างกาย หรือเกิดจากการที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองอินซูลินลดลง
ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึม หรือนำน้ำตาลที่มีอยู่ในเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยง และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนทำให้น้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดปริมาณมาก ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานในที่สุด และถ้าหากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานาน ก็จะยิ่งทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพจนก่อให้เกิดโรค หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน
- โรคเบาหวานประเภทที่ 1
สำหรับโรคเบาหวานประเภทที่ 1 เกิดจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ในเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอินซูลิน
- โรคเบาหวานประเภทที่ 2
ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะเกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุมากที่สุด รวมทั้งยังพบได้ในคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากเป็นในระยะแรกก็สามารถทานยาเพื่อลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน
- โรคเบาหวานประเภทที่ 3
ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่ 3 จะพบเจอได้บ่อยในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งหากคลอดลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาวะเหล่านี้ก็จะหายไปเอง
- โรคเบาหวานประเภทที่ 4
สำหรับโรคเบาหวานประเภทที่ 4 จะเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุจำเพาะ อย่างเช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด หรือการรับประทานยาที่มีสารสเตียรอยด์
ปัจจัยความเสี่ยงที่คุณอาจเป็นโรคเบาหวานได้
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนเลยว่า สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ และหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม หรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ดังนี้
- ครอบครัวมีประวัติโรคเบาหวาน
ปัจจัยความเสี่ยงนี้ เป็นสาเหตุที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งถ้าหากพ่อ หรือแม่เป็นเบาหวาน ลูกจะมีโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ 30 หรือถ้าหากทั้งพ่อ และแม่เป็นเบาหวาน ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโอกาสความเสี่ยงของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันออกไป
- น้ำหนักตัวมากจนเกินไป
น้ำหนักตัวมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเยอะ หรือตกอยู่ในภาวะความอ้วน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การไม่ออกกำลัง การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ กินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมันมากจนเกินไป รวมทั้งมีความต้องการอยากกินอาหารในปริมาณที่มากขึ้นในทุก ๆ วัน ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้
- ไขมันในเลือดสูง
หากพบว่าคุณมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ ก็จะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ เพราะร่างกายมีความดื้อต่ออินซูลินนั่นเอง
- ความดันในเลือดสูง
นอกจากไขมันในเลือดสูงจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานแล้ว ความดันในเลือดสูงก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันในเลือดสูงเกิดจาก ความผิดปกติของไต หรือจากตะกรันที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดความต้านทานเพิ่มขึ้น หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นนั่นเอง
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
อย่างที่บอกไปว่าบุคคลที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ อาจเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ แม้ว่าจะคลอดลูกแล้ว อาการเบาหวานจะหายแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคตอยู่ดี
- คลอดบุตรหนักเกิน 4 กิโลกรัม
หากทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวที่เกิน 4 กิโลกรัม หรือมีรูปร่างที่ใหญ่กว่าทารกทั่วไป นั่นเป็นสัญญาณโรคเบาหวาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ระหว่างตั้งครรภ์อาจสูงกว่าปกติ ทำให้ทารกได้รับน้ำตาลมากเกินไป จนส่งผลทำให้มีน้ำหนักตัวเยอะนั่นเอง
- PCOS
PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) คือ ความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายที่ทำให้ไม่มีการตกไข่ตามรอบประจำเดือน ซึ่งนั่นเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินจนอาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นเบาหวานได้
รู้ก่อนได้เปรียบกับ อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก
สำหรับใครที่อยากรู้ว่า อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก จะมีอาการอย่างไรบ้างนั้น แล้วคุณจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หรือเปล่า? ก็มาดูอาการในระยะเริ่มต้นกันได้เลย ซึ่งก่อนอื่นเราขอบอกก่อนเลยว่า อาการโรคเบาหวานในระยะแรกนั้น จะเป็นอาการที่ไม่ได้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากนัก ซึ่งอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดเท่าไหร่ แต่ก็มีจุดสังเกตได้ตามนี้
- มีความกระหายน้ำ หรือดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะในปริมาณที่มากกว่าปกติ
- รู้สึกหิวบ่อย กินอาหารในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สายตาเริ่มพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดแม้อยู่ใกล้
- รู้สึกอ่อนเพลียง่าย รู้สึกไร้เรี่ยวแรง
- เป็นแผลง่าย และแผลนั้นหายช้ากว่าปกติ
- รู้สึกชา ปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ที่ปลายมือ และปลายเท้า
- ผิวหนังมีความแห้งกร้าน และมีความคันตามผิวหนัง
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ อาการแรกเริ่มของโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อปรึกษา หรือทำการตรวจให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเบาหวานมีอาการรุนแรงมากกว่านี้