You are currently viewing วิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรค NCDs

วิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรค NCDs

ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยกลุ่ม โรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตเร็วจากกลุ่มโรค NCDs สูงเป็นอันดับ 1 และทุก ๆ ปีคาดว่ามีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น บทความในวันนี้ Hillkoff จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรค NCDs พร้อมทั้งบอกวิธีการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ปัจจัย และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรค NCDs

โรค NCDs (Non Communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น 

  • การรับประทานอาหารรสจัด และอาหารไขมันสูง

จากการวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารรสจัด อย่าง รสเค็มจัด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเกลือ หรือโซเดียมมากเกินไป รวมไปถึงการรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารจำพวกแป้ง ของมัน และของทอด เช่น อาหารจังก์ฟู้ด (Junk Food) หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือภาวะไขมันในเลือดสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของเมตาบอลิซึมที่นำไปสู่โรคร้ายแรงต่าง ๆ จากกลุ่มโรค NCDs 

  • การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย

สำหรับคนที่ชอบสังสรรค์ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ที่มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรามากถึง 3 ล้านคนต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นหากสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ที่ใกล้ชิดกับควันบุหรี่ จะยิ่งเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งหากเฉลี่ยแล้วการสูบบุหรี่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ การไม่ออกกำลังกาย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเมตาบอลิซึมในร่างกาย หรือคนที่ต้องนั่งทำงานทั้งวันในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน นอกจากไม่ได้ช่วยให้ร่างกายได้ขยับ หรือใช้พลังงานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง

  •  การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีภาวะเครียดสูง

กลุ่มคนที่มีภาวะความเครียดสูง ทั้งจากการใช้ชีวิต และจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ องค์ประกอบโดยรวมของสภาพแวดล้อม ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนก็เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs เช่นกัน

โดยสาเหตุ และพฤติกรรมเหล่านี้ หลายคนเรียกว่าเป็นโรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง เพราะโรค NCDs ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งจะมีการสะสมอาการอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการเรื้อรังของโรคจะรุนแรงขึ้น จนเกิดเป็นผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

กลุ่มโรค NCDs และอาการของโรคที่ควรสังเกต มีอะไรบ้าง

โรค NCDs
  • โรคเบาหวาน จะเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน อ่อนเพลียง่าย น้ำหนักลด หรือหากเป็นแผลจะหายช้ากว่าปกติ
  • โรคความดันโลหิตสูง มีอาการปวดศีรษะ มีอาการมึนงงหลังตื่นนอน เหนื่อยง่าย ตาพร่ามัวบ่อย รวมถึงอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย
  • โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการแขนขาอ่อนแรง รู้สึกชาตามนิ้วมือ และนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการปากเบี้ยว หรือพูดไม่ชัด
  • โรคหัวใจขาดเลือด มักมีอาการแน่นหน้าอก จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ หรือบริเวณคอหอย บางรายอาจมีอาการหน้ามืด และใจสั่น
  • โรคมะเร็ง ส่วนมากเกิดจากผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย หรือมีก้อนเนื้อบริเวณตาตุ่ม แต่หากพบในบริเวณช่องท้องจะกระทบต่อระบบขับถ่าย หรือมีเลือดออกโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • โรคอ้วนลงพุง วัดได้จากการวัดรอบเอว โดยผู้ชายจะมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ผู้หญิงที่มีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร มีอาการเหนื่อยง่าย และมีปัญหาเรื่องข้อเข่าจากน้ำหนักตัวที่มาก

วิธีการปฏิบัติตัว เพื่อรับมือกับโรค NCDs

โรค NCDs

วิธีการแก้ไข และการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิด โรค NCDs คือ การปรับพฤติกรรมประจำวัน แน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากคิดถึงผลในระยะยาว ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • ลด หรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ลด หรืองดการสูบบุหรี่
  • หาวิธีผ่อนคลายจากความเครียด เพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่ในสภาวะตึงเครียด อย่าง หาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรก
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรหลับให้สนิท 6-8 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก และผลไม้
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด และอาหารจำพวกแป้ง
  • หากมีอาการเจ็บป่วย ควรพบแพทย์เพื่อรับยา และการรักษาที่ถูกต้อง
  • ควรตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ เพื่อเช็กดูว่าควรปรับพฤติกรรมอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิต และสุขภาพที่ดี