โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ แต่การเลือกรับประทานอาหารที่ดีก็มีส่วนที่ช่วยให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้เช่นกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เพื่อไม่ให้ระดับความดันสูงขึ้น ในบทความนี้ Hillkoff จะมาแนะนำอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้สุขภาพดีในระยะยืนยาว และห่างไกลจากโรคความดันสูง
สาระน่ารู้ โรคความดันสูง เกิดจากอะไร

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ในบางรายอาจมีภาวะความดันสูงมาแล้วหลายปีแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเข้าข่ายเป็นโรคความดันสูง ร่างกายก็ได้รับความเสียหายต่อหลอดเลือด และหัวใจไปแล้ว แต่ในบางรายที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตขั้นรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะ หายใจถี่ หรือมีเลือดกำเดาไหล
ซึ่งการที่จะรู้ได้ว่าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการวัดความดัน โดยค่ามาตรฐานของสำหรับสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 ตัวบนเกิน 140 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท
- ระดับที่ 2 ตัวบนเกิน 160 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 100 มม.ปรอท
- ระดับที่ 3 ตัวบนเกิน 180 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 110 มม.ปรอท
อย่างไรก็ตาม การวัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียว ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพราะการวัดความดันในแต่ละครั้ง มักมีปัจจัยหลายอย่างมาทำให้ความดันสูงขึ้นได้ เช่น ความเหนื่อย ความเครียด และความกังวล
รวม 10 อาหาร ที่ผู้ป่วยโรคความดันสูงควรเลี่ยง เพื่อสุขภาพที่ดี

การรักษาโรคความดันสูง ทำได้ด้วยการกินยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ แต่อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงเป็นปกติได้ คือ การเลือกรับประทานอาหาร หากศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าอาหารประเภทใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง จะช่วยรักษาอาการความดันสูงได้ตรงจุด ซึ่งอาหารที่ผู้ป่วยโรคความดันสูงไม่ควรรับประทาน มีดังนี้
- เครื่องปรุงรสทุกชนิด
เครื่องปรุงรสที่ใช้ปรุงอาหารในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสเต้าเจี้ยว กะปิ และผงชูรส มักมีปริมาณโซเดียมที่สูงเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน และเพื่อลดระดับความดันให้เห็นผลควรหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงลงในอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อ
- เนื้อสัตว์แปรรูป
เนื้อสัตว์แปรรูปจำพวกไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง รวมถึงเนื้อสัตว์รมควัน ถือเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคความดันสูง เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องมีการปรุงแต่งรสชาติ หรือใส่เกลือจำนวนมาก เพื่อช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้เก็บได้นาน ทำให้มีปริมาณโซเดียมสูงตามไปด้วย
- อาหารดอง
อาหารดอง เป็นอาหารที่ใช้เกลือเป็นส่วนผสมในปริมาณมาก เนื่องจากเกลือจะช่วยให้อาหารอยู่ได้นานขึ้น แต่เมื่อร่างกายได้รับเกลือ จะเกิดการดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้ค่าความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น
- อาหารแช่แข็ง
อาหารแช่แข็ง มักมีส่วนผสมของเกลือ และโซเดียมสูงมาก ทั้งยังมีกระบวนการใส่สารกันบูด เพื่อช่วยยืดอายุให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้นาน ทำให้อาหารแช่แข็งมีปริมาณโซเดียมสูง และสามารถเพิ่มความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารแช่แข็งมากเกินไป ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด
- น้ำอัดลม
การดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชาเขียว และชาเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากได้รับน้ำตาลเกินปริมาณที่กำหนด จนกลายเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ขนมกรุบกรอบ
ผู้ป่วยโรคความดันสูง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมกรุบกรอบทุกชนิด เนื่องจากขนมกรุบกรอบมีปริมาณโซเดียมสูง หากรับประทานในปริมาณมาก จะเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต อัมพฤกษ์ และอัมพาต
- ขนมหวาน
ขนมหวานเต็มไปด้วยส่วนประกอบของน้ำตาล น้ำเชื่อม และน้ำตาลฟรุกโตส ถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน หากรับประทานมาก ๆ จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคไต และโรคความดันโลหิตสูงในที่สุด ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่จะตามมาในอนาคต
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีปริมาณน้ำตาลอยู่มาก ดังนั้น การดื่มในปริมาณที่มากจนเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ที่สำคัญการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ส่งผลให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงในระยะยาว
- ขนมปัง
ขนมปัง เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากมีเบกกิ้งโซดาเป็นส่วนผสมหลักที่ช่วยให้ขนมปังฟูขึ้น ดังนั้น ควรรับประทานขนมปังในปริมาณที่พอเหมาะต่อวัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานคู่กับเนยเค็ม ชีส แฮม และไส้กรอก
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเกลือ และน้ำส่วนเกินในร่างกาย ทำให้เกิดการคั่งของเกลือ และน้ำในอวัยวะต่าง ๆ จนเกิดการสะสมในร่างกาย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อผู้ป่วยโรคความดันสูงแล้ว การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ระดับความดันปกติ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน และยังไม่เสี่ยงให้อาการรุนแรงขึ้น
