เชื่อว่าใครหลายคนต่างใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วง จนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ทั้งยังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำทุกวัน ถึงอย่างนั้น การใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงของแต่ละคนล้วนมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างกลุ่มโรค NCDs ภัยเงียบที่หากสะสมไว้นาน อาจยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้น
โดยบทความในวันนี้ Hillkoff อยากส่งต่อความรู้เกี่ยวกับกลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรค NCDs เพื่อเช็กให้ละเอียดว่าโรคในกลุ่ม NCDs เกิดจากอะไร และมีโรคอะไรบ้าง ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาไว้ให้ทุกคนได้ศึกษากันแล้ว
รู้เท่าทันโรค ! กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรค NCDs เกิดจากอะไร
โรค NCDs (non-communicable diseases) คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว และมักไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำก็จะไม่ทราบ และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนโรคค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นโรคเรื้อรังในที่สุด ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้ มักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs มากกว่าคนอื่น ๆ ได้แก่
- การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมเป็นประจำ เช่น อาหารรสชาติเค็มจัด และหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง รวมถึงรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น
- ออกกำลังกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกายเลย
- ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีความเครียดสะสม ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ และพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทำความรู้จัก กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรค NCDs มีอะไรบ้าง
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคกลุ่ม NCDs เพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่ากลุ่มโรคเรื้อรังจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม สำหรับโรค NCDs ที่พบมากในคนไทย มีดังนี้
- โรคอ้วน
โรคอ้วน ถือเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ที่พบมากในคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากวิถีชีวิตยุคสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูป และอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายมีปริมาณไขมันสะสมอยู่มากเกินไป อาจก่อให้เกิดโรค และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และมะเร็ง เป็นต้น
- โรคเบาหวาน
อีกหนึ่งโรคในกลุ่ม NCDs ที่พบมากในคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป คือ โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของอินซูลินผิดปกติ ทำให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้สนิท แต่สามารถทำให้อาการของเบาหวานทุเลาลงได้ด้วยการปรับพฤติกรรม และลดน้ำหนัก
- โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ จนกว่าจะอยู่ในขั้นรุนแรง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ ได้ เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- โรคไขมันในเลือดสูง
สำหรับโรคไขมันในเลือดสูงเป็นหนึ่งในโรค NCDs ที่ผู้คนทั่วโลกเป็นมากที่สุด ซึ่งเกิดจากร่างกายมีไขมันชนิดที่ไม่ดีอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดมาก เมื่อร่างกายสะสมไขมันไว้มากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
- โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย และการทำงานของสมองหยุดชะงัก สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ตามระดับความรุนแรง เช่น ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ปวดศีรษะ ตามัว และเดินเซ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองเป็นอาการร้ายแรง และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจตีบ หรืออุดตันจากไขมันในเส้นเลือด ทำให้ออกซิเจนที่ถูกลำเลียงโดยเซลล์เม็ดเลือดแดงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่ มักเกิดจากอาการอักเสบ และเสื่อมสภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน การดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เป็นต้น
- โรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีการเจริญเติบโตเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายผ่านทางระบบเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งล้วนมาจากปัจจัยภายนอก หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
- โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคปอดอุดกั้น เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และการสูดดมสารพิษที่อยู่ในรูปแบบของฝุ่นควัน ฝุ่นละออง แก๊ส และสารเคมีเข้าไปยังปอดเป็นประจำทุกวัน ดังนั้น การป้องกันตัวเองจากโรคถุงลมโป่งพองที่ดีที่สุด คือ การเลิกสูบบุหรี่ และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจากควัน และสารพิษ
5 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรค NCDs ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
สำหรับกลุ่มโรค NCDs แม้บางโรคจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค NCDs ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ อาทิ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เชื่อว่าหลายคนไม่ชอบออกกำลังกาย เพราะชีวิตในแต่ละวันล้วนเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า ถึงอย่างนั้นการออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อหลายโรคในกลุ่มโรค NCDs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีขึ้นไป หรือ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ด้วยการ เดินในน้ำ เล่นโยคะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน และออกกำลังกายแบบ Low Impact เป็นต้น
- งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้น หากคุณอยากดูแลตัวเองให้หายขาดจากโรคกลุ่ม NCDs แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้ประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ หากยังไม่สามารถเลิกได้ แนะนำให้จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ทีละน้อย จนกระทั่งหยุดดื่มได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนพักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการรักษาสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากการนอนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูพละกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทั้งยังช่วยในแง่ของการเผาผลาญพลังงานที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
อีกหนึ่งวิธีดูแลตัวเองจากโรค NCDs ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม คือการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรค NCDs เพราะการตรวจสุขภาพช่วยให้ค้นพบโรค และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงดูแลป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs เพิ่งสูงขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมการทานอาหารในแต่ละวัน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ ด้วยการหันมารับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยในแต่ละมื้ออาหารควรมีเนื้อปลา และผักผลไม้ให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรค NCDs เป็นภัยเงียบที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตที่อาจคร่าชีวิตของคุณ และคนที่คุณรักได้โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายของคุณแข็งแรงอยู่เสมอ และห่างไกลจากโรคเรื้อรังได้