โรคไขมันในเลือดสูง หรือที่นิยมเรียกกันว่าโรคไขมัน เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้มากในคนไทย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากการพบแพทย์ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มไขมัน และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการป่วยไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ อาหารในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก และมีอาหารอยู่หลายประเภทที่ผู้คนยังไม่รับรู้ว่ามีไขมันสะสมอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้น วันนี้ Hillkoff จะพาทุกคนไปเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่ผู้ป่วยโรคไขมันควรหลีกเลี่ยง และอธิบายว่าข้อเสียของการรับประทานอาหารเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
รู้ตัวก่อนรุนแรง ! สำรวจอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคไขมัน
โดยส่วนใหญ่คนมักจะเข้าใจกันว่า ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันในเลือด โดยที่ความจริงนั้น โรคนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่าง แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นคนละประเภทกับไขมันใต้ผิวหนัง ดังนั้น ไม่ว่าจะรูปร่างอ้วน หรือ ผอม ก็สามารถเผชิญกับโรคไขมันได้โดยทั่วกัน และผู้มีรูปร่างอ้วนก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคไขมันเสมอไป
ดังนั้น คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคไขมันในเลือดหรือไม่ จนกว่าอาการจะแสดงออกมามากขึ้น โดยหากเป็นผู้ที่ละเลยสุขภาพ และไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง จะยิ่งสังเกตอาการได้ช้า ดังนั้น การสำรวจตนเองตั้งแต่ช่วงแรกที่มีความเสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพื่อหาแนวทางป้องกันและรักษาได้อย่างทันเวลา โดยวิธีสังเกตอาการ มีดังต่อไปนี้
- อาการเกี่ยวกับการหายใจ
ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดจะมีอาการแน่นหน้าอกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และอาการที่ตามมา คือ การหายใจลำบาก โดยจะแสดงออกด้วยการหายใจถี่ เหมือนผู้ที่หายใจไม่ทัน ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรค NCDs อื่น ๆ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ดังนั้นในทางที่ดี หากเกิดอาการด้านการหายใจบ่อยจนรู้สึกว่าใช้ชีวิตลำบาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
- อาการด้านรูปลักษณ์ และผิวหนัง
วิธีสังเกตความเสี่ยงอันดับแรก คือ สังเกตรูปร่างของตนเอง โดยหากมีน้ำหนักตัวเพิ่ม และรูปร่างขยายตัวมากขึ้น หรือมีภาวะอ้วนลงพุง ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าร่างกายมีไขมันสะสมมากกว่าปกติ นอกจากนี้ อาการด้านผิวหนังที่สังเกตได้ง่าย คือ ผู้ป่วยโรคไขมัน มักจะมีผื่นขึ้นตามลำตัว รวมถึงมีภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ
- อาการด้านสมอง
ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดบางรายจะมีอาการสับสน เพ้อ และเสียความสามารถในการสื่อสาร โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จนเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย หากมีอาการต้องรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการมึนหัว หน้ามืด และปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ก็จัดว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันเช่นกัน เพราะไขมันที่สะสมอยู่ในหลอดเลือด จะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบอื่น ๆ รวมถึงระบบประสาทและสมองด้วยนั่นเอง
4 อาหารที่ผู้ป่วยไขมันควรเลี่ยง เพื่อตัดปัญหาสุขภาพที่อันตรายต่อชีวิต
โรคไขมันในเลือด เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงต่อร่างกาย ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นโรคนี้ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม และช่วยปิดช่องทางการเกิดโรคลุกลามที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม โรคไขมันสามารถรักษาได้ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีผลต่อปริมาณไขมัน โดยควรเลี่ยงอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังต่อไปนี้
- น้ำมัน
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าน้ำมัน เป็นส่วนประกอบของอาหารซึ่งมีไขมันอิ่มตัวอยู่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทนี้ก็ยังมีความสำคัญต่อการทำอาหาร จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ โดยสิ่งที่ผู้ป่วยโรคไขมันทำได้ ก็คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากน้ำมันเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ น้ำมันหมู เป็นต้น และไปบริโภคอาหารที่ใช้น้ำมันพืชอย่าง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลืองแทน เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ทั้งยังควรเลี่ยงอาหารประเภทการทอด และใช้วิธีการปรุงแบบอื่น เช่น การต้ม และการนึ่ง เพื่อลดการบริโภคน้ำมัน
- น้ำตาล
น้ำตาลไม่ได้มาในรูปแบบของความหวานเท่านั้น แต่อาหารจำพวกแป้ง ก็เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มน้ำตาลในร่างกายได้เช่นกัน โดยอาหารประเภทนี้เป็นสิ่งที่ย่อยง่าย จึงทำให้ร่างกายดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว และเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดจำนวนมาก
โดยสารอาหารเหล่านี้เมื่อถูกนำไปใช้แล้ว จะมีส่วนหนึ่งที่เก็บไว้ในรูปไกลโคเจน ซึ่งเป็นไขมันสะสมในร่างกาย เมื่อรับประทานในปริมาณมาก ก็ยิ่งจะเป็นการเพิ่มระดับน้ำตาล และไขมันในร่างกาย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ ได้แก่ น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมไทย ข้าวในปริมาณมากเกินไป และอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของแป้ง เป็นต้น
- เครื่องดื่มชูกำลัง
เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อร่างกายหากดื่มในปริมาณมาก เพราะเป็นการเพิ่มไตรกลีเซอไรด์ให้แก่ร่างกาย ซึ่งเป็นไขมันประเภทเดียวกันกับไขมันสัตว์ จึงเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ถ้าหากไม่งดการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ อาจจะเสี่ยงในการเป็นโรคอื่น ๆ อย่าง โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
- อาหารคอเลสเตอรอล
อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ ไข่ปลา ไข่แดง ตับ ไต สมอง ปลาหมึก และหอยนางรม ซึ่งเป็นอาหารที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งยังมีรสชาติอร่อยถูกปากคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไขมัน ยังสามารถบริโภคอาหารเหล่านี้ได้ แต่ต้องมีการจำกัดปริมาณ และไม่ควรรับประทานบ่อย ๆ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ที่เรานำมาให้ทุกคน เพื่อให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง ที่ต้องควบคุมอาหารให้มีความพอดี ทั้งนี้ นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่อันตรายแล้ว ผู้ป่วยโรคไขมันควรบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผัก และธัญพืชต่าง ๆ